วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ค่าแรงขั้นต่ำ ผลกระทบ ปากท้องชุมชน หรือไม่

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 โดยมีคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและนักวิชาการเข้าร่วมสัมมนาพร้อมกล่าวว่า บอร์ดค่าจ้างชุดปัจจุบันมีมติให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัด ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม



"ซึ่งเบื้องต้นบอร์ดค่าจ้างศึกษาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ 5 รูปแบบ คือ 1.ให้อนุกรรมการค้าจ้างจังหวัดเสนอมาตามปกติ  2.ค่าจ้างลอยตัว 3.ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด 4.ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม 5.ค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ รวมทั้งจะนำข้อเสนอในเรื่องโครงสร้างค่าจ้างมาพิจารณาประกอบด้วย ทั้งนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องส่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดมาให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณาโดยคาดว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศได้ในเดือนตุลาคมนี้"ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

นายนครกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าจ้างไม่ควรนำไปผูกกับนโยบายทางการเมือง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อสถานประกอบการ การจ้างงาน หรือสภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม และตัวของแรงงานเองก็ต้องมีการพัฒนาฝีมือ ทักษะและศักยภาพของตัวเองเพื่อให้นายจ้างยินยอมจ่ายค่าจ้างที่มากขึ้น

ด้าน นายสมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ ผู้บริหารทีมนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน ธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2558 และแนวโน้มตลาดแรงงาน ว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 เศรษฐกิจไทยบางส่วนมีช่วงที่ติดลบ แม้ต้นปีที่ผ่านมาจะมีการขยายตัวแต่ก็ไม่สูงมากนัก ซึ่งส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจคือการใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากขึ้น ทำให้มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวแต่เป็นไปอย่างช้าๆ

 “ค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อการกำหนดค่าจ้างทั่วไปของแรงงาน ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ เป็นการปรับมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่ค่าจ้างปรับขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20.6 ช่วยให้แรงงานมีกำลังในการซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดแรงงานมีแนวโน้มคงที่ แรงงานต้องปรับตัวโดยการพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่ปรับขึ้น” นายสมบูรณ์ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ  300 บาท มาจากมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น นายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง  เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 7)  เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554  ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป  ทั้ง 77 จังหวัด โดยค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดไว้วันละ 300 บาท ซึ่งหากใช้แนวทางใหม่ เท่ากับเป็นการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้วันละ300บาท ทั่วประเทศ

อ้างอิง http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1433562352


วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความจริงที่น่าเห็นใจ คอนโดคนจน ใครได้ใครเสีย

“อพาร์ทเมนท์คนจน” กลายเป็นไอเดียในฝันให้แก่เหล่าคนหาเช้ากินค่ำ จากคำสัญญาปราศรัยของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า รัฐจะเสนอจัดอพาร์ตเมนต์ใกล้รถไฟฟ้าโดยจะจัดให้มีการเช่าหรือซื้อโดยผ่อนในราคาไม่เกิน 300,000 บาท ผ่อนเดือนละ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน แต่แนวคิดดังกล่าวจะเป็นไปได้จริงหรือ? คำถามมากมายประเดประดังขึ้นจากแนวคิดที่ดูสวยงามเกินไปนั้นยากจะหาข้อแก้ต่าง จนอาจนำมาซึ่งเหตุซ้ำเดิมของโครงการบ้านเอื้ออาทร
บิดเบือนตลาด-ซ้ำรอยบ้านเอื้ออาทร
หลังแนวคิดดังกล่าวถูกประกาศกร้าว! ดร.โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการอิสระในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาในโครงการของสหประชาชาติและธนาคารโลกทางด้านที่อยู่อาศัยรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในโครงการของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ (เป็นประกัน) เขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการ “อพาร์ตเมนต์คนจน” ว่าอาจซ้ำรอยโครงการบ้านเอื้ออาทรที่สุดท้ายแล้วกลับจนอยู่ในมือของกลุ่มหาผลประโยชน์กับคนจน
แม้ด้านหนึ่งจะเป็นแนวคิดเอาใจคนยากจน แต่กลับเป็นแนวคิดที่ไม่เข้าใจตลาดที่อยู่อาศัย ซ้ำร้ายอาจก่อปัญหาเพิ่มเติมได้ เขาให้รายละเอียดว่า จากผลการวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์มีการสรุปได้ว่า ประชากรสลัมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน
นอกจากนี้ราคาของห้องชุดติดรถไฟฟ้านั้นยังอยู่ที่ราคาสูงสุดประมาณ 420,000 บาทต่อตารางเมตรและขั้นต่ำประมาณ 80,000 บาทต่อตารางเมตร โดยห้องชุดหนึ่งมีขนาด 20 ตารางเมตรก็เป็นเงินอย่างน้อย 1.6 ล้านบาท ซึ่งหากหักค่าดำเนินการ ภาษี ดอกเบี้ย กำไร ฯลฯ ออกก็จะเหลือเป็นเงินอย่างน้อย 1.1 ล้านบาท
ถ้ารัฐบาลจะสร้างขายในราคา 300,000 บาทก็เท่ากับต้องชดเชยให้หน่วยละ 800,000 บาท ถ้าสร้าง 100,000 หน่วยก็ต้องใช้เงิน 80,000 ล้านบาทหนักกว่าชดเชย 80,000 บาทในกรณีบ้านเอื้ออาทรเสียอีก!
และหากเป็นห้องชุดนอกเมืองตามแนวรถไฟฟ้าราคาจะอยู่ที่ตารางเมตรละ 50,000 บาท กับห้องขนาด 20 ตารางเมตรก็เป็นเงินทั้งสิ้น 1,000,000 หากขายห้องละ 300,000 บาท เท่ากับรัฐต้องชดเชยเงินอย่างน้อย 700,000 บาทเลยทีเดียว
เขามองว่า ถ้ารัฐบาลทำอย่างนี้คงมีคนอ้างตนเป็น “คนจน” อีกมากที่จะสวมรอยเข้ามาจับจองสิทธิในที่อยู่อาศัยประเภทนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายตลาดบ้านเช่ากลางเมืองที่ขณะนี้ปล่อยเช่าในราคา 1,500-3,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 200,000 หน่วย ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยเหล่านี้และสถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อให้สร้างอพาร์ทเมนท์ก็จะประสบเคราะห์กรรมไปด้วย
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อยที่ผ่อนบ้านอยู่อาจจะทิ้งการผ่อนชำระมาเข้าโครงการนี้ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยปั่นป่วนพังทลายลงไปได้
เขาเผยต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลพึงเข้าใจก็คือ “คนจน” เป็นคนส่วนน้อยในสังคมไทยไปแล้วโดยมีคนจนเพียง 13% ของประชากรทั้งประเทศ ประเทศที่ยากจนกว่าไทย เช่น กัมพูชา ลาวและพม่าก็ระบุว่าตนมีประชากรยากจนเพียง 20-30% ของทั้งประเทศยิ่งในกรณีของกรุงเทพฯ ยิ่งแทบจะหาคนยากจนได้ยาก
ท้ายที่สุด เขาเสนอแนวคิดว่า รัฐบาลควรเอาบ้านมา “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ดีกว่า ยังมีบรรดาบ้านราคาถูกที่มีอยู่เกลื่อนกลาด ตลาดซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ซื้อมากกว่าจะสร้างใหม่เข้าทำนอง โดยบ้านเหล่านี้ได้แก่ 1. บ้านของการเคหะแห่งชาติทั้งบ้านเอื้ออาทรและเคหะชุมชนอื่นๆ ซึ่งยังเหลือหรือว่างอยู่อีกนับแสนๆ หน่วย พร้อมให้คนอยู่ได้อีก 2. บ้านของโครงการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนซึ่งมีขายอยู่ในราคา 200,000-400,000 บาท อีกเป็นจำนวนมาก 3. บ้านที่ถูกยึดในกรมบังคับคดีบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งบ้านว่างหรือบ้านที่สร้างเสร็จ แต่ไม่มีใครอยู่ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 300,000 หน่วยทั่วเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เจตนาดีแต่ต้องจัดการให้ดีด้วย
โครงการสำหรับคนจนในมุมมองของ ดร. เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่าเป็นความคิดที่มาจากเจตนาที่ดี แต่อาจมีความไม่เหมาะสมในบางส่วนของนโยบาย
“ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดี และเราได้บทเรียนจากบ้านเอื้ออาทรมาแล้วซึ่งมันถูกสวมรอยนำมาเก็งกำไรขายต่อดังนั้นในส่วนของรายละเอียดของโครงการครั้งนี้ว่าจะออกมาอย่างไร แต่เท่าที่ออกมานั้นก็ยังมีปัญหาอยู่หลายจุด”
อีกบทเรียนจากบ้านเอื้ออาทรคือปัญหาวัสดุที่เสื่อมเร็วเพราะไม่มีนิติบุคคลดูแล กระทั่งกลุ่มบ้านจัดสรรระดับกลางก็ยังมีปัญหา คอนโดก็มีปัญหา หากไม่มีเงินให้นิติบุคคลมากพอก็ดูแลไม่ได้
“ท้ายที่สุดที่นี่อาจกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมแทนที่จะเป็นที่อยู่อาศัยที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี”
เขามองว่า อาจแบ่งคนจนสองกลุ่มคือกลุ่มที่มีที่อยู่แล้ว กับยังไม่มี ต้องแยกทั้งสองกลุ่มให้ดีไม่งั้นอาจไม่สามารถกระจายไปถึงมือคนจนที่ไม่มีที่อยู่จริงๆ ได้
“เราจะให้เขาเอาเงินที่ไหนมาให้เขาซื้อ จะกู้ธนาคารหรือเปล่า ตรวจสอบประวัติการเงินได้มั้ย ถ้าจนก็เข้าถึงไม่ได้เพราะธนาคารก็คงไม่ให้กู้ แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร โจทย์นี้รัฐบาลต้องตีให้แตก”
ปัญหาสำคัญของการที่คนจนมาอยู่รวมกันคือความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแหล่งรวมยาเสพติดซึ่งเขามองว่าต้องมองลู่ทางในการแก้ไขไว้ก่อน
ราคาเบื้องต้นนั้น สำหรับผู้มีรายได้ขั้นต่ำ 300 ถ้ารู้จักเก็บก็สามารถผ่อนได้ แต่คงไม่สามารถลงทุนอื่นได้ เพราะผู้มีรายได้น้อยอาจไม่มีเงินพอไปลงทุนกับสิ่งอื่น มันคือการฝากชีวิตคนจนไว้กับสิ่งนี้จึงต้องดูแลให้ดีที่สุด
“แต่ราคาที่ถูกก็อาจทำมาซึ่งวัสดุที่ไม่ดี ผู้รับเหมาก็ต้องลดต้นทุนเพื่อให้ได้กำไร คุณภาพของอพาร์ทเมนท์มันก็จะไม่ดีและก่อให้เกิดปัญหาตามมาสูง”
ในส่วนของการบิดเบือนราคาตลาดนั้น เขามองว่า กลุ่มลูกค้าของรัฐบาลนั้นคงไม่ใช่กลุ่มเดียวกับกลุ่มเดิมที่เลือกคอนโดติดรถไฟฟ้าซึ่งมักเป็นกลุ่มคนมีฐานะสูงพอสมควร อาจกระทบเฉพาะกลุ่มที่เปิดให้เช่าเท่านั้น
“เป็นไอเดียที่ดีแต่ปัญหาเยอะ ตั้งแต่เริ่มคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน คงทน ทำให้คุณภาพชีวิตดีจริงๆ การประมูลที่เสี่ยงคอร์รัปชั่นด้วย”
ปัญหาหนึ่งของไอเดียนี้คือการที่อพาร์ทเมนท์คนจนนั้นเลือกที่จะสร้างขึ้นติดรถไฟฟ้า เขามองว่า คนยากจนอาจไม่มีเงินพอสำหรับโดยสารรถไฟฟ้า ควรตั้งอยู่ตามแนวรถโดยสารปกติหรือใกล้กับแหล่งที่ทำงานของเขามากกว่า
“เราไปสร้างติดรถไฟฟ้า ที่ดินมันแพงมากทำให้ต้นทุนสูงขึ้น คนที่จะมาอยู่ไม่ใช่คนที่ใช้รถไฟฟ้า คำถามคือทำไมรัฐบาลต้องจ่ายแพงขนาดนั้น
“ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้ละเอียดจริงๆ โดยใช้หลักวิชาไม่มีวาระซ่อนเร้นและฟันธงไปได้ว่าจะใช้ภาษีของประชาชนแก้ไขปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อคะแนนเสียง”
ขอขอบคุณข้อมูล : ASTVผู้จัดการรายวัน